วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

What is Accounting ?



การบัญชีคืออะไร? (What is Accounting?)


สมาคมนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตในสหรัฐอเมริกา(The American Institute of Certified Public Accountants – AICPA) ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ว่า “การบัญชีเป็นศิลปะของการจดบันทึกรายการหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเงินไว้ในรูปของเงินตรา การจัดหมวดหมู่ของรายการที่บันทึก การสรุปผลและการวิเคราะห์ความหมายของรายการที่ได้จดบันทึกไว้ โดยจัดทำในรูปของรายงานทางการเงิน”

สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ได้ให้ความหมายของการบัญชีไว้ว่า “การบัญชี คือ ศิลปะของการเก็บรวมรวม บันทึก จำแนก และทำสรุปข้อมูลอันเกี่ยวกับเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน ผลงานขั้นสุดท้ายของการบัญชีก็คือ การให้ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลหลายฝ่าย และผู้ที่สนใจในกิจกรรมของกิจการ”

จากความหมายของการบัญชีของทั้งสองสถาบัน เราสามารถสรุปได้ว่า การบัญชีก็คือ การเก็บรวบรวม การจดบันทึก การจำแนก และการสรุปผลรายการทางการเงินที่เกิดขึ้นในรูปของตัวเงิน รวมทั้งการวิเคราะห์ และแปลความหมายผลสรุปนั้นด้วย

จากความหมายของการบัญชีดังกล่าว เราสามารถสรุปขั้นตอนของการบัญชีได้ ดังนี้

1. การเก็บรวมรวม (Gathering)
2. การจดบันทึก (Recording)
3. การจำแนก (Classifying)
4. การสรุปผล (Summarizing)
5. การวิเคราะห์และแปลความหมาย (Analysis and Interpreting)

นอกจากคำว่า “การบัญชี (Accounting)” แล้วยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมักมีการเข้าใจผิดว่าเป็นคำคำเดียวกันนั่นคือคำว่า “การทำบัญชี (Book keeping)” ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่คำเดียวกันแต่มีความใกล้เคียงกัน โดยการทำบัญชีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบัญชีเท่านั้น โดยการทำบัญชีเป็นเพียงการจดบันทึกรายการลงในสมุดบัญชี จำแนกรายการบัญชี และสรุปรายการบัญชีโดยจัดทำงบการเงินเท่านั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบันทึกรายการทั้งหมดนี้เราเรียกว่า ผู้ทำบัญชี (Book keeper) แต่การบัญชีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การออกแบบระบบบัญชี การวางรูปบัญชี การบันทึกบัญชี การรายงานทางบัญชี การวิเคราะห์ข้อมูลทางการบัญชี และการสอบบัญชี โดยผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานทั้งหมดดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า “นักบัญชี (Accountant)

วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชี (The Purpose of Accounting)

วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชี คือ เพื่อบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของกิจการ จำแนก และสรุปผลเพื่อให้ได้ข้อมูลทางการบัญชีไปใช้ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารกิจการ เจ้าของกิจการ หรือบุคคลอื่น ๆ เช่น เจ้าหนี้ หน่วยงานรัฐบาล หรือบุคคลที่สนใจ

ประโยชน์ของการจัดทำบัญชี (The Benefits of Accounting)

1. ทำให้เจ้าของกิจการสามารถควบคุม และดูแลรักษาสินทรัพย์ของกิจการที่มีอยู่ไม่ให้สูญหาย

2. ทำให้ผู้บริหารกิจการมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจบริหารกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ทำให้ผู้บริหาร และเจ้าของกิจการผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของกิจการได้อย่างถูกต้อง

4. ทำให้บุคคลภายนอกกิจการสามารถมีข้อมูลทางการบัญชีของกิจการ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ

ผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชี (Users of Accounting Information)

1. เจ้าของกิจการ (The Owner)
2. ผู้บริหาร (Manager)
3. เจ้าหนี้หรือแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ (Creditors)
4. นักลงทุน (Investors)
5. ลูกค้าและซัพพลายเออร์ (Customers and Suppliers)
6. พนักงานหรือลูกจ้าง (Employees)
7. คู่แข่ง (Competitors)
8. รัฐบาลและหน่วยงานราชการ (Government Agencies)
9. บุคคลทั่วไป

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้ข้อมูลทางการบัญชีของกิจการมีด้วยกันมากมายหลายฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ต้องการข้อมูลที่แตกต่างกันไป โดยเราจะแบ่งผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชีได้เป็น 2 ฝ่ายใหญ่ ๆ คือ ฝ่ายผู้ใช้ภายในกิจการ (Internal Users) อันได้แก่ เจ้าของและผู้บริหารกิจการ กับฝ่ายผู้ใช้ภายนอกกิจการ (External Users) อันได้แก่ เจ้าหนี้ ผู้ลงทุน หน่วยงานรัฐบาล และอื่น ๆ ดังนั้นข้อมูลทางการบัญชีเราจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกัน คือข้อมูลทางการบัญชีที่นำเสนอแก่ผู้ใช้ภายในกิจการเราเรียกว่า การบัญชีบริหารหรือการบัญชีเพื่อการจัดการ (Managerial Accounting) กับข้อมูลทางการบัญชีที่นำเสนอแก่ผู้ใช้ภายนอกกิจการเราเรียกว่า การบัญชีการเงิน (Financial Accounting)

การแบ่งส่วนทางการบัญชี

1. การบัญชีส่วนย่อย (Micro Accounting) คือ ระบบบัญชีที่จัดวางไว้สำหรับการรวบรวม บันทึก วิเคราะห์และเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งการบัญชีส่วนย่อยนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.1. การบัญชีส่วนย่อยที่มุ่งหาผลกำไร (Profit Motive Accounting)
1.2. การบัญชีส่วนย่อยที่มิได้มุ่งหาผลกำไร (Non-Profit Motive Accounting)

2. การบัญชีส่วนรวม (Macro Accounting) คือ ระบบบัญชีที่จัดวางไว้สำหรับรวบรวม บันทึก วิเคราะห์ และเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจส่วนรวมของชาติ เช่น ระบบบัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติ บัญชีงบดุลประชาชาติ ระบบบัญชีวางแผนเศรษฐกิจ ระบบเงินหมุนเวียนของชาติ และระบบบัญชีดุลการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นต้น

งานในวิชาชีพบัญชี (Careers in Accounting)

งานในวิชาชีพบัญชีสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.งานบัญชีของธุรกิจ (Private Accounting)
2. งานบัญชีสาธารณะ (Public Accounting)
3. งานบัญชีของรัฐบาล (Governmental Accounting)

สถาบันวิชาชีพทางการบัญชีในประเทศไทย

1. สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย
2. คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.)

แนวความคิดและหลักการบัญชี
สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ได้กำหนดข้อสมมุติทางการบัญชีไว้ในแม่บทการบัญชี 2 ข้อ คือ

1. เกณฑ์คงค้าง

งบการเงินจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์คงค้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา แล้วภายใต้เกณฑ์คงค้าง รายการและเหตุการณ์ทางบัญชีจะรับรู้เมื่อเกิดขึ้นมิใช่เมื่อมีการรับหรือ จ่ายเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด โดยรายการต่าง ๆ จะบันทึกบัญชีและแสดงในงบการเงินตามงวดที่เกี่ยวข้อง งบการเงินที่จัดทำขึ้นตามเกณฑ์คงค้างนอกจากจะให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งบการเงิน เกี่ยวกับรายการค้าในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการรับและจ่ายเงินสดแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาระผูกพันที่กิจการต้องจ่ายเป็นเงินสดในอนาคตและ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่จะได้รับเป็นเงินสดในอนาคตด้วย ดังนั้น งบการเงินจึงสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายการและเหตุการณ์ทางบัญชีในอดีตซึ่ง เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งบการเงินในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ

2. การดำเนินงานต่อเนื่อง

โดยทั่วไปงบการเงินจัดทำขึ้นตามข้อสมมติที่ว่ากิจการจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต ดังนั้น จึงสมมุติว่ากิจการไม่มีเจตนาหรือมีความจำเป็นที่จะเลิกกิจการหรือลดขนาดของการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ หากกิจการมีเจตนาหรือความจำเป็นดังกล่าว งบการเงินต้องจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์อื่นและต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในงบการเงินด้วย

นอกจากข้อสมมุติทางการบัญชีที่ได้กล่าวมาแล้ว สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ยังได้กำหนดลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงินไว้ในแม่บทการบัญชีอีก 14 ข้อ ดังนี้

1. ความเข้าใจได้
2. ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
3. ความมีนัยสำคัญ
4. ความเชื่อถือได้
5. การเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม
6. เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ
7. ความเป็นกลาง
8. ความระมัดระวัง
9. ความครบถ้วน
10. การเปรียบเทียบกันได้
11. ทันต่อเวลา
12. ความสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับต้นทุนที่เสียไป
13. ความสมดุลของลักษณะเชิงคุณภาพ
14. การแสดงข้อมูลที่ถูกต้องตามควร

งวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period)

คำว่างวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชี หมายถึง การที่กิจการจะทำการบันทึกรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในงวดเวลาหรือรอบระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นก็จะสรุปออกมาว่าในงวดเวลานั้นกิจการมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และในวันสิ้นงวดเวลานั้นกิจการมีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร โดยงวดบัญชีหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้นจะเป็นระยะเวลาเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี และถ้าหากงวดบัญชีของกิจการเป็น 1 ปี งวดบัญชีนั้นจะเริ่มต้นเมื่อไรก็ได้ จะเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม เหมือนปีปฏิทินหรือไม่ก็ได้

ประเภทของธุรกิจ (Types of Business)

เราสามารถแบ่งประเภทของธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ธุรกิจบริการ (Service Businesses) เป็นธุรกิจที่มีรายได้เกิดขึ้นจากการให้บริการ ซึ่งบริการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น สวนสนุก หอพัก กิจการรถเช่า โรงภาพยนตร์ คลินิก โรงแรม รถประจำทาง เป็นต้น

2. ธุรกิจซื้อขายสินค้า (Merchandising Businesses) หรือ ธุรกิจพาณิชยกรรม เป็นธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจโดยการซื้อสินค้าเข้ามาแล้วขายสินค้านั้นออกไปในราคาที่สูงกว่าเดิม โดยไม่มีการแปรรูปหรือแปลงสภาพสินค้าแต่อย่างใด เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต บริษัทขายรถยนต์ เป็นต้น

3. ธุรกิจอุตสาหกรรม (Manufacturing Businesses) หรือ ธุรกิจผลิตสินค้า เป็นธุรกิจที่มีการดำเนินการผลิตสินค้า คือมีการแปรรูปวัตถุดิบที่ซื้อเข้ามาเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วขายออกไป ธุรกิจประเภทนี้ได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานกระเบื้อง โรงงานทอผ้า เป็นต้น

รูปแบบของการดำเนินธุรกิจ (Types of Business Organizations)

ธุรกิจทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว สามารถเลือกดำเนินธุรกิจ 3 รูปแบบ คือ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship)
2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership)
3. บริษัทจำกัด (Limited Company)

สมการบัญชี (Accounting Equation)
เพื่อให้ศึกษาวิชาการบัญชีได้เข้าใจและง่ายขึ้น เราจะมาเริ่มต้นกันที่การรู้จักสมการบัญชี ซึ่งสมการบัญชีคือ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

จะเห็นได้ว่าในสมการบัญชีมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งหมด 3 คำ คือคำว่า สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ เราจะมาทำความเข้าใจกับคำทั้งสามคำนี้ก่อน

สินทรัพย์ (Assets) หมายถึง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าที่วัดได้เป็นตัวเงินที่กิจการเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น เงินสด รถยนต์ สัมปทาน เป็นต้น เราสามารถจำแนกสินทรัพย์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ 4 ประเภท ดังนี้

1. สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสด หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 รอบระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจหรือ 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินสด (Cash) หมายถึง ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่กิจการมีอยู่ในมือ และรวมถึงเช็คที่ถึงกำหนดได้รับเงินแล้วแต่กิจการยังไม่ได้นำไปขึ้นเงินหรือนำฝากธนาคาร ดราฟท์ ธนานัติ แคชเชียร์เช็ค เป็นต้น

1.2 เงินฝากธนาคาร (Cash in Bank or Deposit) หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารที่กิจการมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ

1.3 เงินลงทุนระยะสั้น (Short-term Investment) หมายถึง การที่กิจการได้นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ แล้วขายคืนภายใน 1 ปี

1.4 ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้ามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับกิจการในอนาคตข้างหน้าอันเนื่องมาจากธุรกิจการค้า

1.5 ตั๋วเงินรับ (Notes Receivable) หมายถึง เอกสารหรือสัญญาที่ลูกค้าหรือลูกหนี้ได้ออกให้แก่กิจการเพื่อใช้เป็นเอกสารในการเรียกเก็บเงินภายหลัง เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น

1.6 สินค้าคงเหลือ (Inventories) หมายถึง สินค้าสำเร็จรูป งานระหว่างผลิต วัตถุดิบ ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อใช้ในการผลิต แต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากกิจการ ยังคงเหลืออยู่ในกิจการ

1.7 ลูกหนี้อื่น ๆ (Other Receivables) หมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่ใช่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการ เช่น เกิดจากการกู้ยืม เป็นต้น

1.8 รายได้ค้างรับ (Accrued Revenue) หมายถึง รายได้อื่น ๆ ที่ไม่เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการที่กิจการควรจะได้รับ แต่ยังไม่ได้รับ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น

1.9 ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กิจการได้จ่ายเงินไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่จ่ายไปนั้น เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

1.10 วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการที่มีลักษณะที่ใช้แล้วหมดไปภายใน 1 ปี เช่น น้ำมันหล่อลื่น ด้าย ผงซักฟอก เป็นต้น และถ้าหากวัสดุสิ้นเปลืองนั้นใช้ในสำนักงาน ก็จะถูกเรียกว่า วัสดุสำนักงาน (Office Supplies) เช่น ปากกา ดินสอ ลวดเย็บกระดาษ เป็นต้น

2. เงินลงทุนระยะยาว (Long-term Investment) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในอนาคตข้างหน้า โดยตั้งใจจะลงทุนเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี

3. สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี ที่กิจการมีไว้เพื่อที่จะใช้ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อที่จะก่อให้เกิดรายได้กับกิจการ ตัวอย่างของสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากสินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี แต่ไม่ได้มีไว้ในเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการของกิจการ ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร เช่น หากกิจการเป็นกิจการขายรถยนต์ รถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นสินค้าคงเหลือ หรือหากกิจการซื้อที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร โดยหากราคาของที่ดินสูงขึ้นจะขายที่ดินแปลงนี้ออกไป ที่ดินแปลงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะยาว เป็นต้น

4. สินทรัพย์อื่น (Other Assets) หมายถึงสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ประเภท ในทางบัญชีสินทรัพย์อื่นนี้จะหมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สัมปทาน สิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์อื่นนี้จะมีอายุการใช้ประโยชน์เกิน 1 ปี



หนี้สิน (Liabilities) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่น ซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนให้กับบุคคลหรือกิจการเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า หนี้สินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) หมายถึง หนี้สินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร (Bank Overdraft) หมายถึง เงินที่กิจการเบิกเกินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งธนาคารยอมให้เบิกเกินบัญชีไปก่อนในระยะสั้น ๆ ซึ่งกิจการจะต้องชำระคืนธนาคารในอนาคต

1.2 เงินกู้ยืมธนาคารระยะสั้น (Short-term Bank Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำสัญญาตกลงกับธนาคารในการกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่ง โดยที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี

1.3 เจ้าหนี้การค้า (Account Payable) หมายถึงจำนวนเงินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระให้กับบุคคลหรือกิจการอื่นเป็นค่าสินค้าหรือบริการที่กิจการซื้อมาเป็นเงินเชื่อ

1.4 ตั๋วเงินจ่าย (Notes Payable) หมายถึง เอกสารที่กิจการออกให้กับบุคคลหรือกิจการ เพื่อเป็นสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดตามเอกสารนั้น กิจการจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถือเอกสาร ในจำนวนเงินตามเอกสารนั้น

1.5 รายได้รับล่วงหน้า (Deferred Revenue) หมายถึง รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าในอนาคตเนื่องจากได้รับเงินมาแล้ว

1.6 ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ครบกำหนดที่จะต้องจ่ายแล้ว แต่กิจการยังไม่ได้จ่ายเงิน และกิจการยังไม่เคยรับรู้และมีการบันทึกบัญชีมาก่อน จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีของกิจการ เช่น ค่าเช่าค้างจ่าย ค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย เป็นต้น

1.7 เจ้าหนี้อื่น (Other Payable) หมายถึง ภาระผู้พันที่กิจการจะต้องชำระหนี้ให้กับบุคคลหรือกิจการอื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้การค้า เช่น เจ้าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมระยะสั้นที่ไม่ไช่ธนาคาร เป็นต้น

2. หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องชำระคืนบุคคลหรือกิจการอื่น ที่มีระยะเวลาการชำระคืนเกิน 1 ปี แต่ถ้าหากหนี้สินระยะยาวใดที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีข้างหน้า หนี้สินระยะยาวจำนวนนั้น จะถือเป็นหนี้สินหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น กิจการกู้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1,000,000 บาท มีกำหนดชำระคืนเงินต้น 10 ปี ปีละ 100,000 บาท เริ่มชำระคืนเงินต้นปีหน้านี้เป็นปีแรก ดังนั้น เงินจำนวน 100,000 บาท ที่จะต้องชำระคืนในปีหน้า จะถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินระยะยาวจะเป็นจำนวนเงินเพียงแค่ 900,000 บาท หนี้สินระยะยาวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1 หุ้นกู้ (Bonds Payable) หมายถึง การที่กิจการกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยออกหุ้นกู้ไว้ให้เป็นหลักฐาน ซึ่งกิจการจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งหุ้นกู้นี้มักจะมีกำหนดการไถ่ถอนมากกว่า 1 ปีและเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว กิจการก็จะต้องนำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเราเรียกว่าการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นเอง

2.2 เงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง หรือเงินกู้จำนอง (Mortgage Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยการนำสินทรัพย์ถาวรของกิจการไปจำนองกับผู้ให้กู้ไว้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

2.3 เงินกู้ระยะยาวโดยไม่มีการจำนอง หรือเงินกู้ระยะยาว (Long-term Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินกู้ระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity) หรือบางทีอาจจะเรียกว่า ทุน (Proprietorship) หมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์ทีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของโดยปราศจากการมีหนี้สินทึ่จะต้องชำระคืนในอนาคต ส่วนของเจ้าของของกิจการที่ดำเนินงานแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship) สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียว ส่วนของเจ้าของคือสินทรัพย์ที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนในกิจการเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเรียกว่า “ทุน” ทุนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากผลการดำเนินงานของกิจการที่มีกำไร หรือจากการที่เจ้าของกิจการนำสินทรัพย์มาลงทุนเพิ่มเติม และทุนจะมีจำนวนลดลงจากผลการดำเนินงานของกิจการที่ขาดทุน หรือจากการที่เจ้าของกิจการได้ถอนทุนคืนไป

2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership) สำหรับกิจการห้างหุ้นส่วน ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วยทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือมีการลงทุนเพิ่ม และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะลดลงเมื่อได้รับส่วนแบ่งการขาดทุน หรือเมื่อมีการถอนทุนคืน

3. กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company) สำหรับกิจการบริษัทจำกัด ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ทุนเรือนหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ์ ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ ซึ่งคือจำนวนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ และกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสม ซึ่งหมายถึงผลการดำเนินงานที่สะสมมาในแต่ละปีตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

จากสมการบัญชี

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ


ทำให้เราเข้าใจได้ว่าสินทรัพย์ซึ่งเป็นของกิจการนั้นประกอบไปด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่ง ก็คือมาจากการกู้ยืมหรือเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่นซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (หนี้สิน) และอีกแหล่งคือเป็นของกิจการเองโดยไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (ส่วนของเจ้าของ)

งบการเงิน (Financial Statement)

งบการเงิน คือ งบที่กิจการจัดทำขึ้นเพื่อแสดงผลการดำเนินงานของกิจการตลอดจนฐานะทางการเงินของกิจการ งบการเงินประกอบด้วย

1. งบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นงบการเงินที่แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งว่ากิจการมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร กำไรหรือขาดทุน ดังนั้น รายการที่แสดงในงบกำไรขาดทุนนี้จึงเป็นเฉพาะรายได้ และรายการค่าใช้จ่ายของกิจการ

2. งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบการเงินที่แสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งว่ากิจการมีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร ดังนั้นรายการที่แสดงในงบดุลนี้ จึงเป็นรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ โดยสินทรัพย์ของกิจการจะต้องเท่ากับจำนวนรวมหนี้สินของกิจการกับส่วนของเจ้าของของกิจการ ตามสมการบัญชี

รูปแบบของงบการเงิน

"งบการเงินทั้งงบกำไรขาดทุนและงบดุล มีด้วยกัน 2 รูปแบบคือแบบรายงาน และแบบบัญชี"


การจัดทำงบกำไรขาดทุนแบบรายงาน (Report Form)

1. เขียนหัวของงบกำไรขาดทุน 3 บรรทัดให้อยู่กลางกระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วย

- บรรทัดที่ 1 ชื่อกิจการ

- บรรทัดที่ 2 คำว่า “งบกำไรขาดทุน”

- บรรทัดที่ 3 รอบระยะเวลาในการทำงบกำไรขาดทุน และวันที่สิ้นสุด

2. เขียนคำว่า “รายได้” แล้วนำบัญชีหมวดรายได้มาใส่ในงบกำไรขาดทุน หากรายได้มีมากกว่า 1 รายการให้แสดงการรวมยอดรายได้ทั้งหมดด้วย

3. เขียนคำว่า “ค่าใช้จ่าย” แล้วนำบัญชีหมวดค่าใช้จ่ายได้มาใส่ในงบกำไรขาดทุน หากค่าใช้จ่ายมีมากกว่า 1 รายการให้แสดงการรวมยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย

4. หาผลต่างระหว่างยอดรวมของรายได้ กับยอดรวมของค่าใช้จ่าย หากรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ผลต่างนี้เรียกว่า “กำไรสุทธิ” แต่หากรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ผลต่างนี้เรียกว่า “ขาดทุนสุทธิ”

ตัวอย่างงบกำไรขาดทุนแบบรายงาน



การจัดทำงบกำไรขาดทุนแบบบัญชี (Account Form)

1. เขียนหัวของงบกำไรขาดทุน 3 บรรทัดให้อยู่กลางกระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วย

- บรรทัดที่ 1 ชื่อกิจการ

- บรรทัดที่ 2 คำว่า “งบกำไรขาดทุน”

- บรรทัดที่ 3 รอบระยะเวลาในการทำงบกำไรขาดทุน และวันที่สิ้นสุด

2. แบ่งกระดาษออกเป็น 2 ด้าน

3. นำบัญชีหมวดค่าใช้จ่ายไว้ทางด้านซ้ายมือ และบัญชีหมวดรายได้ไว้ทางด้านขวามือ

4. หาผลต่างของรายได้กับค่าใช้จ่าย และทำให้ยอดรวมของทั้ง 2 ด้านเท่ากัน


ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุนแบบบัญชี



การจัดทำงบดุลแบบรายงาน (Report Form)

1. เขียนหัวของงบดุล 3 บรรทัดให้อยู่กลางกระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วย

- บรรทัดที่ 1 ชื่อกิจการ

- บรรทัดที่ 2 คำว่า “งบดุล”

- บรรทัดที่ 3 วันที่ที่จัดทำงบดุล

2. เขียนคำว่า “สินทรัพย์” ไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วให้นำบัญชีหมวดสินทรัพย์มาใส่ และรวมยอดสินทรัพย์ทั้งหมด

3. เขียนคำว่า “หนี้สินและส่วนของเจ้าของ” ไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วให้นำบัญชีหมวดหนี้สินมาใส่ และรวมยอดหนี้สินทั้งหมด ต่อจากนั้นให้นำบัญชีหมวดส่วนของเจ้าของมาใส่และรวมยอดส่วนของเจ้าของ และรวมยอดหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ซึ่งยอดรวมของหนี้สินและส่วนของเจ้าของจะต้องเท่ากับยอดรวมของสินทรัพย์

ตัวอย่าง งบดุลแบบรายงาน




การจัดทำงบดุลแบบบัญชี (Account Form)

1. เขียนหัวของงบดุล 3 บรรทัดให้อยู่กลางกระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วย

- บรรทัดที่ 1 ชื่อกิจการ

- บรรทัดที่ 2 คำว่า “งบดุล”

- บรรทัดที่ 3 วันที่ที่จัดทำงบดุล

2. แบ่งกระดาษออกเป็น 2 ด้าน

3. นำบัญชีหมวดสินทรัพย์ไว้ทางด้านซ้ายมือ และบัญชีหมวดหนี้สินและส่วนของเจ้าของไว้ทางด้านขวามือ

4. ยอดรวมของทั้งสองด้านจะต้องเท่ากัน

ตัวอย่าง งบดุลแบบบัญชี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น